ฝุ่นละอองคืออะไร , เครื่องฟอกอากาศ ,เครื่องฟอกอากาศในรถ , เครื่องฟอกอากาศในรถยนต์

 

 

ที่มา:สมชัย บวรกิตติ, รังสรรค์ ปุษปาฅม

ฝุ่น (dust) คือดินแห้งหรือสิ่งอื่นที่ละเอียดเป็นผง หรือ fine, dry particles of earth or any powdered matter small enough to be blown by the wind

ละออง (fine dust) หมายถึงสิ่งซึ่งมีลักษณะ เป็นผงฝอยละเอียดยิบ

อนุภาค (particle) หมายถึงชิ้นหรือส่วนขนาดเล็กมาก ในทางวิทยาศาสตร์มักใช้เรียกส่วนที่มีขนาดเล็กกว่าอะตอม เช่น อนุภาคแอลฟา อนุภาคบตา

 

โดยนัยทางเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ฝุ่นละออง เป็นอนุภาคของแข็งหรือของเหลว เส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๓-๑๐๐ ไมโครเมตร ฟุ้งกระจายในบรรยากาศ เช่น ฝุ่น เถ้า ผงโลหะ ผงถ่าน ฯลฯ ฝุ่นที่สามารถแขวนลอยในบรรยากาศได้นานเรียกว่าอนุภาคแขวนลอย (suspended particulate matter, SPM); ฝุ่นที่มี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสั้นกว่า ๑๐ ไมโครเมตร เรียกย่อๆ ว่า PM10 สามารถผ่านเข้าไปในทาง เดินอากาศหายใจ ได้ลึกกว่าจมูกและคอหอย ฝุ่นที่มีอนุภาคขนาด ๐.๓-๖.๐ ไมโครเมตรสามารถ ล่องลอยตามลมหายใจเข้าถึงถุงลมปอดได้จึงเรียกว่าอนุภาคที่ถูกหายใจได้ (respirable particulate matter; RPM); ขนาด ๐.๕-๒.๕ ไมโครเมตร จะติดค้างอยู่ในปอดได้; ขนาดเล็กกว่า ๐.๕ ไมโครเมตรจะลอยเข้าออกจากปอดอย่างเสรี

 

แหล่งกำเนิด

ในยุคต้นๆ เมื่อมีกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก ฝุ่นในบรรยากาศผิวโลกส่วนใหญ่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากปฏิกิริยาเคมีแสงในบรรยากาศ (pho­tochemical reaction) การกัดกล่อนพัดพาพื้นผิวโลกของลมและพายุ เถ้าถ่านจากไฟไหม้ป่า เถ้าภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ และส่วนน้อยจากการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต (เช่น การวิ่งของสัตว์) และควันไฟจากการก่อไฟหุงหาอาหาร เมื่อมนุษย์มีการพัฒนาความเป็นอยู่มากขึ้น และประชากรโลกเพิ่มขึ้น ฝุ่นในบรรยากาศส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยฝีมือของมนุษย์ เองจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การก่อสร้าง งานอุตสาหกรรม การใช้ยวดยานต่างๆ ฯลฯ ดังนั้น จึงอาจจำแนกแหล่งใหญ่ๆ ของฝุ่นเป็นแหล่งธรรมชาติ และแหล่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ทั้งที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตประจำและจากการประกอบอาชีพ

 

ส่วนประกอบของฝุ่น

 ฝุ่นที่เกิดโดยธรรมชาติที่เกิดจากการพัดพาของลมตามธรรมชาติ มีส่วนประกอบเป็นเศษดิน ทรายและอินทรีย์วัตถุจากพืช และอนุภาคกัมมันต­รังสีจากผิวโลกที่เกิดจากการสลายตัวของแร่ธาตุ กัมมันตรังสีในเปลือกโลกเอง ฝุ่นจากฝีมือของมนุษย์ ในปัจจุบันส่วนใหญ่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงประเภท ฟอสสิล ในการสร้างพลังขับเคลื่อนเครื่องยนต์และกำเนิดพลังไฟฟ้า ซึ่งให้อนุภาคทั้งที่เป็นของแข็ง และของเหลวที่มีศักยภาพทำอันตรายสุขภาพของสิ่งมีชีวิต และจากการประกอบอาชีพทั้งด้านอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ซึ่งให้ทั้งฝุ่นอินทรีย์และอนินทรีย์ และฝุ่นไอพิษจากปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ดังจะได้กล่าว ในรายละเอียดต่อไป

 

ผลกระทบทั่วไป

 ทัศนสภาพและทัศนวิสัยของการมีฝุ่นละอองมากในสิ่งแวดล้อมทำให้สภาพจิตใจหดหู่ไม่สดชื่นแจ่มใส จนอาจเกิดภาวะเครียดได้ ซึ่งหากประกอบ กับภาวะบีบคั้นอื่น เช่นการทำงานอาจเกิดผลกระทบที่รุนแรงได้ ฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาหญ้าหรือเผาป่าเป็นตัวอย่างสำคัญที่มีผลต่ออุบัติเหตุของยวดยาน ในท้องถนน และการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีผลกระทบต่อบรรยากาศชั้นโอโซน ซึ่งมีผลพวกกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์หลายประการ

 

ผลกระทบต่อสุขภาพ

 จะขอกล่าวแยกผลกระทบต่อสุขภาพเป็น ๒ ส่วน คือผลกระทบจากฝุ่นในบรรยากาศทั่วไป (ambient air หรือ general environment) และฝุ่นในสถาน ประกอบอาชีพ (workplace environment)

 

ฝุ่นในบรรยากาศทั่วไป

 

ฝุ่นจากธรรมชาติ

ก. ฝุ่นละอองจากพืช เช่น ละอองเกสรดอกไม้ เกสรหญ้า สปอร์จากเห็ดรา ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะก่อโรคหืดและอาการ จับหืดได้

ข. ฝุ่นละอองที่มีจุลินทรีย์ก่อโรค ที่สำคัญคือ เชื้อไวรัสหวัด ไข้หวัดใหญ่ ฝุ่นไรบ้าน เป็นตัวก่อโรคที่พบบ่อย 

ค. ฝุ่นกัมมันตรังสีที่เกิดในธรรมชาติทั้งที่เกิดในพื้นโลกเอง และที่มาจากนอกโลกล้วนมีศักยภาพก่อผลกระทบต่อสุขภาพได้

 

ฝุ่นจราจรในเมืองใหญ่

 

ในปัจจุบันฝุ่นจากการจราจรของยวดยานบนถนนในเมืองใหญ่ได้สร้างปัญหาด้านมลพิษทางอากาศเข้าขั้นวิกฤต เพราะมีส่วนประกอบที่เป็นสารพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นทั้งอนุภาคของแข็งและของเหลวที่มีศักยภาพทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และเชื่อว่าเป็นเหตุที่ทำให้ความชุกของโรคภูมิแพ้สูงขึ้นมาก

ฝุ่นในอากาศตามแนวถนนสายสำคัญในกรุงเทพมหานครและในเมืองใหญ่อื่นของประเทศไทยมีค่าสูงเกินมาตรฐานที่กำหนดมาหลายปีแล้ว ในปี ๒๕๓๘ ค่าเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมงของฝุ่นในถนนสูงถึง ๑.๑๘ มก./ลบ.ม. และค่าปริมาณอนุภาค PM10 สูงถึง ๒๖๕ ไมโครกรัม/ลบ.ม. (ค่ากำหนดมาตรฐานไม่เกิน ๑๒๐ มคก./ลบ.ม. ใน ๒๔ ชั่วโมง) สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดมาตรฐาน ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศให้ค่ามัชฌิมเรขาคณิต ในเวลา ๑ ปีไม่เกิน ๐.๑ มก./ลบ.ม. หรือค่าเฉลี่ยใน ๒๔ ชั่วโมงไม่เกิน ๐.๓๓ มก./ลบ.ม.

กำเนิดพยาธิและลักษณะเวชกรรม

เนื่องจากจมูกและคอหอย โดยเฉพาะคอหอยส่วนจมูก (นาโสฟาริย์งก์ซ์) เป็นด่านแรกที่ต้องสัมผัสกับฝุ่น จึงเกิดการระคายเคืองได้บ่อย ทำให้เกิดอาการจาม และเจ็บคอ ฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ ๑๐ ไมโครเมตรขึ้นไปมักจะเข้าไปถึงเพียงบริเวณนี้ ส่วนใหญ่ของฝุ่นจะถูกจับไว้โดยขนจมูกและความซับซ้อนของ โพรงจมูกและจะถูกขับออกไปกับน้ำมูก ผู้ที่ต้องสัมผัสต่อฝุ่นเป็นประจำเป็นระยะเวลาหนึ่งอาจพัฒนาเกิดภาวะปฏิกิริยาไวเกิน (hyperresponsiveness หรือ hyperreactivity) หรือภูมิแพ้ (allergy) ขึ้นได้ อุบัติการโรคหวัดเรื้อรังหรือโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้สูงขึ้นชัดเจนในเมืองใหญ่

ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า ๑๐ ไมโครเมตร (par­ticulate matter <10 (μm, PM10) ซึ่งสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นานจะผ่านเข้าไปในทางเดินอากาศหายใจได้ลึกกว่า ทำให้เกิดการระคายต่อกล่องเสียงและหลอดลมคอ เกิดอาการคันคอ ไอ เสียงแหบลง ถ้าสัมผัสเป็นประจำเป็นเวลานานๆ จะเกิดการอักเสบเรื้อรังและเซลล์ในบริเวณนั้นมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้

ฝุ่นขนาดเล็ก (๐.๓-๖.๐ ไมโครเมตร) ที่ผ่าน เข้าไปถึงถุงลมได้ (respirable suspended par­ticles) อาจทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือปอดอักเสบ ในการสัมผัสช่วงต้นๆ เช่นคนต่างจังหวัดที่เริ่มเข้ามาอยู่ในเมืองหลวงในขั้นต้นจะมีอาการของหลอดลมอักเสบปัจจุบัน เช่น ไอมีเสมหะอาจมีไข้ ต่อเมื่อได้สัมผัสเป็นประจำก็จะเกิดการอักเสบเรื้อรัง ดังเคยมีรายงานผลการศึกษาสุขภาพของตำรวจจราจรในกรุงเทพมหานครว่าตำรวจจราจร ในเมืองมีอัตราเสี่ยงโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังสูงกว่าตำรวจชานเมืองถึง ๔.๔ เท่า และจากการทดสอบหน้าที่ปอดพบว่าตำรวจจราจรกรุงเทพฯ มีค่าปริมาตรการหายใจออกอย่างแรงในส่วนร้อยละ ๒๕-๗๕ (FEF 25-75%) ต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ อันแสดงว่าตำรวจเหล่านั้นได้เริ่มมีพยาธิสภาพในทางเดินอากาศ หายใจส่วนล่าง (small airways disease) แล้ว การศึกษาปัญหาสุขภาพของตำรวจจราจรในอีกรายงานหนึ่ง ก็ยืนยันว่ามีผู้ที่เป็นโรคทางเดินอากาศหายใจอักเสบเรื้อรังถึงร้อยละ ๒๐ และที่เกิดร่วมกับประสาทหูเสื่อมร้อยละ ๑๘ และร่วมกันโรคพิษสาร ตะกั่วร้อยละ ๑๕. ต่อมามีการศึกษาอีกโดยวัดหน้าที่ ปอดของตำรวจจราจร ก็สนับสนุนว่ามีความผิดปรกติ พบได้ถึงร้อยละ ๒๕.๓ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความผิดปรกติเชิงกำกัด (ร้อยละ ๑๗.๒). การศึกษาล่าสุดจากศิริราช  แม้ว่าข้อมูลยังไม่สมบูรณ์นัก ก็บ่งชี้ว่ามีผลกระทบต่อทางเดินอากาศหายใจ

โรคฝุ่นจับปอด (pneumoconiosis) อาจเกิด ขึ้นได้หากในฝุ่นมีปริมาณฝุ่นก่อโรคมากพอ เช่น สิลิคา และ แอสเบสทอส แต่การตรวจฝุ่นแอสเบสทอส ในอากาศบนถนนสายสำคัญในกรุงเทพมหานครก็ไม่พบว่ามีฝุ่นแอสเบสทอส เลย

โรคภูมิแพ้ทางระบบการหายใจนั้น ดังกล่าวแล้วว่ามีข้อมูลว่าฝุ่นในเมืองใหญ่มีความสัมพันธ์กับอุบัติการโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่สูงขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าทำให้อุบัติการโรคหืดหลอดลมสูงขึ้น อย่างไรก็ดีการสัมผัสฝุ่นควันก็ช่วยกระตุ้นให้มีการจับหืดเกิดขึ้นบ่อยได้

สรุป

ปริมาณฝุ่นในบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นในเมืองใหญ่ ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง โดยเฉพาะจากยานยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ผลกระทบต่อสุขภาพที่ชัดเจนเกิดเนื่องจากการสัมผัสโดยตรงทำให้เกิดการอักเสบที่ตา ผิวหนังและทางเดินอากาศหายใจ โรคภูมิแพ้บางชนิดมีอุบัติการสูงขึ้น และผู้ที่เป็นโรค ภูมิแพ้อยู่แล้วจะมีอาการบ่อยขึ้น ทางเดินอาหาร ระบบประสาทและสภาพจิตก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ที่มา healthcarethai